![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
อำนาจหน้าที่ของเทศบาล
การที่เทศบาลจะมีอำนาจที่จะดำเนินกิจการใดได้บ้างนั้น จะต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ซึ่งอาจจำแนกที่มาของอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้เป็น 2 ประเภท คือ อำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2552 และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นๆ
พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2552 แบ่งแยกประเภทหน้าที่ของเทศบาลไว้เป็น 2 ส่วน คือ หน้าที่ที่ทำในเขตเทศบาลต้องปฏิบัติ และหน้าที่ที่อาจจัดทำกิจการใด ๆ โดยเทศบาลตำบลเมืองคง อยู่ในฐานะเทศบาลตำบลที่มีหน้าที่ ดังนี้
หน้าที่ที่ต้องทำในเขตเทศบาล
หน้าที่ประการนี้เป็นหน้าที่ที่กฎหมายบังคับให้เทศบาลจัดทำเพื่อให้เป็นผลดีแก่ท้องถิ่นมีดังต่อไปนี้
1. รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
2. ให้มีและบำรุงทางบกทางน้ำ
3. รักษาความสะอาดของถนนหรือทางเดินและที่สาธารณะรวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
4. ป้องกันและระงับโรคติดต่อ
5.ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง
6. ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม
7. ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
8. บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
9. หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล
หน้าที่ที่เทศบาลอาจจัดทำกิจการใด ๆ ในเขตเทศบาล
1. ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
2. ให้มีโรงฆ่าสัตว์
3. ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือหรือท่าข้าม
4. ให้มีสุสานและฌาปนสถาน
5. บำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร
6. ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการพิทักษ์รักษาคนเจ็บไข้
7. ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่าง
8. ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ
9. เทศพาณิชย์
นอกจากอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2552 แล้ว เทศบาลตำบลยังมีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะ ตาม พ.ร.บ กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ 2542 มาตรา 16 ดังต่อไปนี้
1. จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
2. จัดให้มีและบำรุงทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ
3. การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
4. การสาธารณูปโภคและการก่อสร้างอื่นๆ
5. การสาธารณูปการ
6. การส่งเสริม การฝึก และประกอบอาชีพ
7. การพาณิชย์ และการส่งเสริมการลงทุน
8. การส่งเสริมการท่องเที่ยว
9. การจัดการศึกษา
10. การสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
11. การบำรุงรักษาศิลปะจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
12. การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
13. การจัดให้มีและบำรุงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
14. การส่งเสริมกีฬา
15. การส่งเสริมประชาธิปไตยความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
16. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
17. การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
18. การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูลและน้ำเสีย
19. การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและการรักษาพยาบาล
20. การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน
21. การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
22. การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์
23. การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ
24. การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
25. การผังเมือง
26. การขนส่งและวิศวกรรมจราจร
27. การดูแลรักษาที่สาธารณะ
28. การควบคุมอาคาร
29. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
30. การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
31. กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
นอกจากนี้ เทศบาลยังมีอำนาจหน้าที่ที่จะทำกิจการนอกเขตเทศบาลและกระทำการร่วมกับบุคคลอื่นได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้
การทำการนอกเขตเทศบาล
1. การนั้นจำเป็นต้องทำ และเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินตามอำนาจหน้าที่อยู่ภายในเขตของตน
2. ได้รับความยินยอมจากสภาเทศบาล คณะกรรมการสุขาภิบาล สภาจังหวัดหรือสภาตำบลแห่งท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องและได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยการขออนุมัติทำกิจการนอกเขตเทศบาลส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องการขออนุมัติซื้อที่สำหรับทิ้งขยะมูลฝอย การขยายเขตจำหน่ายประปา การก่อสร้างสวนสาธารณะ และการก่อสร้างทางคมนาคม
เทศบาลอาจทำการร่วมกับบุคคลอื่น โดยก่อตั้งบริษัทจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดเมื่อ
1. บริษัทจำกัดนั้นมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค
2. เทศบาลต้องถือหุ้นเป็นมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนที่บริษัทจดทะเบียน ไว้ในกรณีที่มีหลายเทศบาล องค์การบริหาร ส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลหรือสุขาภิบาลถือหุ้นในบริษัทเดียวกันให้นับหุ้นที่ถือนั้นรวมกันและได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
3. การเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
สหการ ถ้ามีกิจการใดอันอยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปที่จะร่วมกันทำเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ก็ให้จัดตั้งเป็นองค์การขึ้นเรียกว่าสหการ มีสภาพเป็นทบวงการเมือง และมีคณะกรรมการบริหารประกอบด้วยผู้แทนของเทศบาลที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย
การจัดตั้งสหการจะทำได้ก็แต่โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งจะได้กำหนดชื่อ อำนาจหน้าที่ และระเบียบการดำเนินงานไว้
การยุบเลิกสหการให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาโดยกำหนดวิธีการจัดทรัพย์สินไว้ด้วย
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -